นักวิทยาศาสตร์ชี้ว่าไดโนเสาร์กลายพันธุ์เป็นนก
ผู้เชี่ยวชาญพืชและสัตว์ดึกดำบรรพ์ชี้ว่าไดโนเสาร์บางพันธุ์วิวัฒนาการกลายเป็นนกและหากเปลี่ยนเวลาที่ก้อนอุกกาบาตพุ่งชนโลกได้ ไดโนเสาร์อาจจะไม่สูญพันธุ์
ทีมงานผู้เชี่ยวชาญด้านพืชและสัตว์ดึกดำบรรพ์ระดับแนวหน้าของโลกทีมแรกได้สรุปสาเหตุที่ทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ไปจากโลกโดยใช้ข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับซากไดโนเสาร์และเครื่องมือวิเคราะห์ที่ทันสมัย
คุณ Steve Brusatte ผู้เชี่ยวชาญด้านพืชและสัตว์ดึกดำบรรพ์แห่งมหาวิทยาลัย Edinburgh กล่าวว่าก้อนอุกกาบาตที่พุ่งชนโลกทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ไปจากโลก แต่ว่าเกิดขึ้นในช่วงที่ไม่ดีเลยสำหรับไดโนเสาร์
คุณ Brusatte เป็นหัวหน้าทีมผู้เชี่ยวชาญทีมนี้กล่าวว่าก้อนอุกกาบาตขนาดกว้าง 10 กิโลเมตรที่พุ่งชนโลกในยุคนั้นเป็นสาเหตุให้เกิดความเสียหายทางสภาพแวดล้อมไปทั่วโลก เกิดคลื่นยักษ์สึนามิ แผ่นดินไหว ไฟป่า ฝนกรดและเกิดการผกผันของอุณหภูมิบนโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
คุณ Brusatte กล่าวว่านี่ทำให้ไดโนเสาร์ที่กินพืชเป็นอาหาร ไดโนเสาร์ที่มีเขาอย่างไดโนเสาร์ไทรเซอราทอฟส์และไดโนเสาร์ที่เป็นอาหารของไดโนเสาร์ชนิดที่กินเนื้อชนิดอื่นๆ ได้เริ่มลดความหลากหลายลงไปบ้างแล้วเล็กน้อย
การศึกษาของทีมงานพบว่าการลดลงของไดโนเสาร์กินพืชนี้ทำให้ระบบนิเวศวิทยาของไดโนเสาร์อ่อนแอลง เขากล่าวว่าหากลูกอุกกาบาตพุ่งชนก่อนหน้านั้นล้านถึงสองล้านปีซึ่งเป็นตอนที่ไดโนเสาร์พันธุ์กินพืชเป็นอาหารยังมีความหลากหลายอยู่ เขาคิดว่าไดโนเสาร์อาจจะสามารถปรับตัวให้อยู่รอดบนโลกได้
อย่างไรก็ตาม ในช่วง 150 ล้านปี จำนวนประชากรของไดโนเสาร์มีทั้งขึ้นและลงอยู่ตลอดเวลา นี่ทำให้ทีมงานของคุณ Brusatte สรุปว่าไดโนเสาร์ สัตว์โลกดึกดำบรรพ์อาจจะไม่สูญพันธุ์ หากก้อนอุกกาบาตพุ่งชนโลกก่อนหน้านั้นหรือภายหลังจากนั้น
ส่วนการศึกษาอีกชิ้นหนึ่งที่ตีพิพม์ในวารสาร Science เช่นกัน ได้ศึกษาสายพันธุ์ของสัตว์ที่รอดมาได้ด้วยการกลายพันธุ์ พวกเขาได้ค้นคว้าเพื่อหาคำตอบว่าไดโนเสาร์พันธุ์ไทแรนโนเซอรัสเร็กซ์ ที่ดุร้าย วิวัฒนาการไปเป็นนกเลือดอุ่นตัวเล็กๆ ได้อย่างไร
คุณ Michael Lee นักชีววิทยาวิวัฒนาการที่ทำงานร่วมกับพิพิทธภัณฑ์ South Australia Musuem เป็นหัวหน้าทีมวิจัยชุดที่สองนี้ เขากล่าวว่าทีมงานจะต้องทำแผนผังครอบครัวของไดโนเสาร์ไทแรนโนเซอรัสเร็กซ์เสียก่อนเป็นอันดับแรก ก่อนที่จะวิเคราะห์ดูว่าเกิดอะไรขึ้นในแต่ละช่วงของแผนผังครอบครัวดังกล่าวเพื่อระบุลักษณะและรูปแบบของวิวัฒนาการของไดโนเสาร์พันธุ์นี้ว่าย่อส่วนลงมาอย่างไร
ทีมงานของคุณ Michael Lee เน้นศึกษาเฉพาะไดโนเสาร์พันธุ์เดียวบนแผนผังครอบครัวไดโนเสาร์ไทแรนโนเซอรัสเร็กซ์ คือไดโนเสาร์พันธุ์กินเนื้อเทอร์โรพอดส์เพื่อวิเคราะห์ลักษณะทางพันธุกรรมเพื่อมองหาสายพันธุ์ 120 สายพันธุ์
คุณ Michael Lee หัวหน้าทีมวิจัยกล่าวว่ามีไดโนเสาร์กลุ่มหนึ่งในแผนผังครอบครัวนี้ที่วิวัฒนาการถึงสี่ครั้ง เร็วกว่าไดโนเสาร์ชนิดอื่นๆ ที่มีชีวิตในช่วงเดียวกัน เขากล่าวว่ากลุ่มไดโนเสาร์ที่วิวัฒนาการอย่างรวดเร็วนี้ได้กลายเป็นนกในที่สุด
ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้วิเคราะห์ดูการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลา 50 ล้านปี ในช่วงระยะเวลานี้ ทีมนักวิจัยพบว่าไดโนเสาร์รุ่นต่อๆ มาค่อยๆ ลดขนาดลงมาเรื่อยๆ ในอัตราค่อนข้างคงที่และเมื่อมาวันที่ก้อนอุกกาบาตพุ่งชนโลก นกรุ่นบรรพบุรุษมีชีวิตอยู่มานานถึง 100 ล้านปีแล้ว
คุณ Michael Lee หัวหน้าทีมวิจัยกล่าวว่านกรุ่นบรรพบุรุษได้เริ่มปรับตัวเข้ากับวิถีชีวิตแนวใหม่ตามขนาดร่างกายที่เล็กลง มีความสามารถในการเคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างรวดเร็วและมีความสามารถสูงขึ้นในการควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย คุณ Lee กล่าวว่าขนาดร่างกายที่เล็กลงเป็นต้นเหตุของการเปลี่ยนแปลงทางวิวัฒนาการ
เขากล่าวว่านั่นทำให้เกิดการกลายรูปร่างและลักษณะทางร่างกายอย่างสิ้นเชิง การมีปีกและมีขนที่ช่วยในการโบยบิน และเริ่มมีกระดูกสองง่ามที่หน้าอก ตลอดจนลักษณะพิเศษต่างๆ ที่เราเห็นในนกปัจจุบัน
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่ามีนกถึง 10,000 ชนิดบนโลกนี้ คุณ Michael Lee หัวหน้าทีมวิจัยกล่าวปิดท้ายรายงานจากผู้สื่อข่าววีโอเอว่าเขาวางแผนที่จะศึกษาวิเคราะห์ลักษณะการวิวัฒนาการของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมภายหลังจากการสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์