บังเอิญพบ “เพนกวินสีทอง” (1 : 100,000 ตัวเท่านั้น) ที่จะเกิดขึ้นตามธรรมชาติเช่นนี้
เมื่อปลายปี 2019 อีฟ อดัมส์ (Yves Adams) ช่างภาพสัตว์ป่าชาวเบลเยี่ยม ได้เดินทางสำรวจสิ่งมีชีวิตในมหาสมุทรแอตแลนติกทางตอนใต้ ซึ่งเขาได้ตัดสินใจมุ่งหน้าไปยังเกาะแห่งหนึ่งในเซาท์จอร์เจีย (South Georgia) เพื่อถ่ายภาพฝูงเพนกวินราชา (King Penguin) ที่มีมากกว่า 120,000 ตัว แต่ทว่าท่ามกลางเหล่าฝูงเพนกวินตัวสีดำ เขากลับพบ “เพนกวินสีทอง” ที่เหลืองอล่ามแบบที่ไม่เคยพบมาก่อน
นี่คือ อีฟ อดัมส์ (Yves Adams) ช่างภาพชาวเบลเยี่ยมที่ถ่ายเพนกวินสีทองได้
อดัมส์ กล่าวกับสำนักข่าว Kennedy News ว่า “ตลอดชีวิตการทำงานเป็นช่างภาพสัตว์ป่า ผมไม่เคยเห็นเพนกวินสีทองมาก่อน นับว่าโชคดีมากเพราะมันอยู่ห่างจากผมไปเพียง 50 เมตรเท่านั้น หากมันอยู่ไกลกว่านี้ ผมอาจลายตาจนมองไม่เห็นก็ได้” ซึ่งปกติแล้วเพนกวินจะมีสีขนสีดำ คอเหลือง ท้องขาว แต่เจ้าเพนกวินสีทองที่พบนั้นไม่มีเพียงสีดำเท่านั้น ซึ่งที่เป็นเช่นนี้เพราะเกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรมที่เรียกว่า “Leucism” หรือ “ภาวะด่าง” เป็นภาวะที่เกิดจากความผิดปกติของเมลานินที่ไม่สามารถผลิตเม็ดสีดำออกมาได้
ถึงตรงนี้ หลายคนอาจเข้าใจผิดว่า ภาวะด่าง = ภาวะเผือก (Albinism) ซึ่งความจริงแล้ว ภาวะเผือกนั้นเป็นโรคทางพันธุกรรม ที่ไม่สามารถสร้างเม็ดสีใด ๆ ได้เลย (สังเกตง่าย ๆ คือ ถ้าเป็นภาวะเผือกตาจะเป็นสีแดง) แต่สำหรับภาวะด่าง คือยังสามารถสร้างเม็ดสีได้แต่ไม่ทั้งหมด โดยจะมีเพียงบางสีเท่านั้นที่ร่างกายไม่สามารถผลิตออกมาได้ ทั้งนี้ การเกิดภาวะด่างในเพนกวิน มีโอกาสเกิดเพียง 1 ใน 20,000-146,000 ตัวเท่านั้น หมายความว่า ในเพนกวิน 1 ฝูง จะมีเพียง 1 ตัวเท่านั้น ที่มีลักษณะสีทองเช่นนี้
อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่เพนกวินสีทองตัวแรกที่ถูกพบ เพราะเคยมีรายงานการพบเพนกวินสีทองครั้งแรกในปี ค.ศ.1988 และอีกครั้งคือในปี ค.ศ.2000 แต่ทั้ง 2 ครั้งนั้นไม่มีรูปถ่ายยืนยันแต่อย่างใด ดังนั้นภาพถ่ายของ อีฟ อดัมส์ จึงนับว่าเป็นการปรากฏตัวของเพนกวินสีทองอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกนั่นเอง
สุดท้าย แดเนียล โทมัส นักวิจัยทางทะเลจากมหาวิทยาลัยแอริโซนา กล่าวว่า “มันแตกต่างจากฝูงอย่างชัดเจน ซึ่งมันดูโดดเด่นและงดงามในสายตามนุษย์อย่างเรา แต่สำหรับสมาชิกในฝูงเพนกวินด้วยกัน มันอาจไม่ได้มีเสน่ห์หรือเป็นที่ต้องการของตัวเมีย อีกทั้งมีความเสี่ยงที่จะถูกล่าได้ง่ายกว่าเพนกวินสีดำทั่วไป” ซึ่งทั้งหมดนี้ เป็นเพียงการสันนิษฐานปัญหาในการใช้ชีวิตที่อาจเกิดขึ้นกับมันเท่านั้น นักวิจัยยังคงต้องติดตามและศึกษากันต่อไปครับ
เพิ่มเติม – “เพนกวินราชา”
(King Penguin) ชื่อวิทยาศาสตร์ Aptenodytes Patagonicus เป็นเพนกวินที่ใหญ่ที่สุดในโลกเป็นอันดับ 2 (รองจากเพนกวินจักรพรรดิ) มีน้ำหนักราว 11-16 กิโลกรัม มีความสูงเกือบ 1 เมตร สามารถดำน้ำได้ลึกถึง 100-200 เมตร มีการสำรวจพบว่า พวกมันมีจำนวนลดลงกว่า 90% เมื่อเทียบกับ 30 ปี ที่ผ่านมา ถึงแม้จะดูเป็นจำนวนที่ลดลงมากอย่างน่าตกใจ แต่สถานะของพวกมันก็ยังนับว่ามีความเสี่ยงต่ำที่จะสูญพันธุ์ครับ
– หลายคนอาจมองว่า “เพนกวิน” เป็นสัตว์ที่มีรักเดียว เมื่อจับคู่แล้วจะอยู่กับคู่ของมันไปตลอดชีวิต แต่ในความเป็นจริง พวกมันมักนอกใจคู่ครองของตนเองไปผสมพันธุ์กับตัวอื่น บางครั้งก็มีผสมพันธุ์กับเพศเดียวกัน รวมถึงตัวเมียบางตัวก็ชอบลักไก่ ไปขโมยไข่ของตัวอื่นมาเป็นของตัวเองแบบเนียน ๆ