ค้นหา

บทความที่ได้รับความนิยม

Translate

นกกีวีวิวัฒนาการถอยหลัง จากตาดีกลายเป็นตาบอด


นกกีวีซึ่งเป็นนกที่บินไม่ได้และเป็นสัตว์ประจำถิ่นที่พบในนิวซีแลนด์เท่านั้น อาจกำลังมี "วิวัฒนาการแบบถดถอย" หลังทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติพบว่า พวกมันมีประชากรจำนวนมากที่เริ่มสูญเสียการมองเห็น หลังออกหากินและใช้ชีวิตในช่วงกลางคืนเป็นหลัก

ทีมนักวิทยาศาสตร์ซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่ผลการศึกษาครั้งนี้ในวารสาร BMC Biology ระบุว่าพวกตนประหลาดใจอย่างมาก ที่พบว่านกกีวีสีน้ำตาลในป่าโอคาริโทบนเกาะใต้ของนิวซีแลนด์ที่ตาบอดสนิทหลายตัว สามารถออกหากินและดำรงชีวิตอยู่ตามลำพังได้โดยไม่ต้องรวมกลุ่ม นกตาบอดเหล่านี้มีสภาพร่างกายสมบูรณ์และยังมีสุขภาพแข็งแรงเป็นปกติดีอีกด้วย

ดร. อลัน เทนนีสัน หนึ่งในทีมนักวิทยาศาสตร์บอกว่า จากการติดตามศึกษานกกีวีสีน้ำตาล 160 ตัว พบว่า 1 ใน 3 ของพวกมันมีปัญหาทางสายตา และในจำนวนนี้มีหลายตัวที่ตาบอดสนิท แต่ดูเหมือนว่าความบกพร่องทางการมองเห็นของนกกีวีกลุ่มนี้ ไม่ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของพวกมันแต่อย่างใด

นกกีวี
"ไม่มีนกชนิดไหนเลยที่เมื่อตาบอดแล้วจะสามารถมีชีวิตอยู่รอดตามลำพังได้ ปรากฏการณ์นี้จึงอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการเกิดวิวัฒนาการแบบถดถอย 

(Regressive evolution) ในหมู่นกกีวีที่ออกหากินกลางคืนเป็นหลัก ซึ่งในสภาพที่มืดสนิทเช่นนั้น สายตาไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป ร่างกายของพวกมันจะไม่พยายามรักษาสายตาเอาไว้ เพราะจะเป็นการสิ้นเปลืองพลังงานโดยใช่เหตุ" ดร. เทนนีสันกล่าว "เราพบเหตุการณ์ลักษณะคล้ายกันนี้ได้ในตัวตุ่นบางชนิด และปลาที่อาศัยอยู่ในถ้ำมืด ซึ่งชี้ว่าการมองเห็นไม่จำเป็นต่อความอยู่รอดของสัตว์ทุกชนิดเสมอไป"

ดร. สแตนลีย์ เซสชันส์ หนึ่งในทีมนักวิทยาศาสตร์บอกว่า กรณีของนกกีวีที่วิวัฒนาการถดถอยจนสูญเสียการมองเห็นนั้น น่าจะเป็นผลจากยีนตัวหนึ่งที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมและมีบทบาทกระตุ้นให้ประสาทสัมผัสอื่น ๆ ของนกกีวี เช่นการรับสัมผัสและดมกลิ่นที่บริเวณจงอยปากยาวของมันมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่ในขณะเดียวกัน ยีนตัวนี้จะส่งผลให้สายตาเสื่อมลงและบอดสนิทในที่สุด
อย่างไรก็ตาม การที่นกกีวีสายตาเสื่อมกลุ่มนี้ยังคงมีชีวิตอยู่รอดได้ อาจเป็นผลมาจากปัจจัยอื่น ๆ ด้วย เช่นการอยู่ในแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์และไม่มีศัตรูตามธรรมชาติ ปัจจุบันนกกีวีเป็นสัตว์ที่เสี่ยงใกล้สูญพันธุ์โดยมีประชากรเหลืออยู่ทั้งหมดราว 400 ตัวเท่านั้น

รายการบล็อกของฉัน